การรดน้ำศพ
การอาบน้ำศพ หรือเรียกกันทั่วไปว่า รดน้ำศพ เป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่งในพิธีทำศพซึ่งจะทำกันก่อนนำศพใส่โลง เพราะต้องการให้ร่างกายของคนตายสะอาดบริสุทธิ์
ทั้งยังถือสืบกันมาว่า เป็นการขอขมาโทษ เพื่อจะได้ไม่มีเวรภัยต่อกัน ทั้งนี้ การรดน้ำศพกระทำแก่ท่านผู้ควรเคารพนับถือใน ๔ ทาง มี
๑. ตามทางสายญาติทั้งฝ่ายบิดาและมารดา
๒. ตามทางคุณวุฒิที่เป็นครูบาอาจารย์
๓.ตามทางผู้บังคับบัญชาเหนือตน
๔.ตามทางมิตรสหายที่สนิทสนมกันมา ซึ่งในความรู้จักคุ้นเคยนั้น ตามประเพณี เมื่อคนเหล่านี้สิ้นชีวิตลง จึงจะต้องไปอาบน้ำศพเป็นการขมาลาโทษที่เคยล่วงเกินต่อกัน ขออโหสิกรรมให้เลิกแล้วต่อกัน อย่าได้ตามติดไปในภพหน้า
ย้อนไปสมัยโบราณ การอาบน้ำศพจะอาบกันจริงๆ คือ ต้มน้ำด้วยหม้อดิน ในหม้ออาจใส่ใบไม้ต่างๆ ต้มลงไปด้วย เช่น ใบหนาด ใบส้มป่อย ใบมะขาม โดยเฉพาะใบหนาด ถือกันว่าเป็นใบไม้ที่ผีกลัวและใช้ปัดรังควานได้ การอาบน้ำศพเริ่มจากอาบด้วยน้ำอุ่นก่อน แล้วจึงอาบด้วยน้ำเย็นอีกครั้ง ฟอกด้วยส้มมะกรูด เมื่อล้างจนสะอาดหมดจดแล้วฟอกด้วยขมิ้นชันสดและผิวมะกรูดตำละเอียด จากนั้นจึงแต่งตัวให้ศพ
แต่การอาบน้ำศพในปัจจุบันเรียกว่าพิธีอาบน้ำศพ หรือ รดน้ำศพ ใช้น้ำพุทธมนต์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าน้ำมนต์ ผสมกับน้ำสะอาด บางทีใช้น้ำอบไทยร่วมด้วยเพื่อให้เกิดความหอม เมื่อถึงเวลาอาบน้ำศพซึ่งจะทำกันหลังจากที่เสียชีวิตไม่นานนัก เพราะศพยังสดอยู่ จัดให้ศพนอนในที่อันสมควร จับมือข้างหนึ่งยื่นออกมายังหมอนใบเล็กที่รองรับ ลูกหลานของผู้ตายจะทำหน้าที่ใช้ขันใบเล็กๆ ตักน้ำมนต์จากขันใหญ่ส่งให้กับผู้ที่มารดน้ำศพ โดยการเทน้ำลงบนมือของผู้ตาย กล่าวคำไว้อาลัยหรือกล่าวขอให้วิญญาณของผู้ตายจงไปสู่สุคติไม่ต้องห่วงอาลัยมีกังวล
หายไปดั่งเปลวเทียนดับ กลับสู่ธรรมชาติที่ว่างเปล่า
การรดน้ำศพเป็นปริศนาธรรม ให้เห็นว่าคนเราเมื่อตายไปแล้ว แม้นำของหอมหรือน้ำอบน้ำมนต์ใดๆ มาราดรดก็ไม่อาจที่จะฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้ ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่ควรประมาท เร่งขวนขวายสร้างบุญกุศลและคุณงามความดีไว้ เพราะยังโชคดีที่มีโอกาสได้กระทำ ส่วนคนที่ตายนั้นหมดโอกาสไปแล้ว